top of page

ตอนที่ 3 ประกันรถภาคบังคับ(พ.ร.บ.)

ปัจจุบันยังมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่า

  • ประกันรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) คืออะไร

  • ใครต้องทำ พ.ร.บ. บ้าง

  • คุ้มครองใครบ้าง

  • คุ้มครองอย่างไร

มาทำความเข้าใจ รับรู้สิทธิของผู้ประสบภัยจากรถกันครับ

พ.ร.บ. คืออะไร ?

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2535 โดยมีเจตนารมณ์ 3 ประการ

  1. เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อย่างทันท่วงที

  2. เป็นหลักประกันแก่สถานพยาบาลทุกแห่ง ว่าได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลอย่างแน่นอน

  3. บรรเทาภาวะความเดือนร้อนของผู้ประสบภัยจากรถและครอบครัว

ใครต้องทำ พ.ร.บ. ?

รถที่ต้องจัดทำให้มีการประกันภัยคุ้มครอง ได้แก่ รถทุกคันทุกประเภท ซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ ที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก

ยกเว้น รถที่ไม่ต้องทำประกันภัยตามกฎหมายนี้ ได้แก่

  1. รถสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และรถสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

  2. รถของสำนักพระราชวัง

  3. รถของกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการต่างๆ แต่ไม่รวมถึง รถของรัฐวิสาหกิจ

คุ้มครองใคร ?

ผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยทุกคนไม่ว่าจะเป็น ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือคนเดินถนน อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถ

คุ้มครองอย่างไร ?

- บุคคลดังข้างต้นจะได้รับการชดใช้ ค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 80,000 บาท

- กรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิต ทายาทของผู้ประสบภัยจะได้รับการชดใช้ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท

โดยค่าเสียหายที่ได้รับการชดใช้มี 2 ส่วน คือ

“ค่าเสียหายเบื้องต้น” และ “ค่าเสียหายส่วนที่เกินจากเบื้องต้น”

อนึ่ง : ค่าเสียหายดังกล่าวไม่รวมถึงค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินเช่น ค่าซ่อมรถ ฯลฯ

สิทธิและประโยชน์ของผู้ประสบภัยมีอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไป...

ผู้เขียน ทค.อภิชาติ เฮงรัตนกิจ

Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
bottom of page