ตอนที่ 4 คําศัพท์ต่าง ๆ ในกรมธรรม์ (ต่อ)
มาต่อกันตอนที่ 4 ต่อจากครั้งที่แล้วเกี่ยวกับคำศัพท์ของประกันภัยครับ
ทุพพลภาพถาวร ( ตามที่ สมาคมประกันวินาศภัย ได้ให้นิยามไว้ )
ทุพพลภาพถาวรในที่นี้ หมายถึง ทุพพลภาพถึงขนาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใดๆ ในอาชีพประจำและอาชีพอื่นๆ ได้โดยชิ้นเชิงตลอดไป
การที่จะถือว่าบุคคลใดทุพพลภาพ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ความบาดเจ็บที่บุคคลนั้นได้รับ ต้องรุนแรงถึงขนาดที่ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถประกอบอาชีพประจำที่ทำอยู่เดิม และอาชีพอื่นๆ ได้ตลอดไปเช่น รถยนต์คันเอาประกันภัยพลิกคว่ำ นายสมบัติซึ่งมีอาชีพเป็นนายจ้างเจียรนัยเพชร พลอย ได้รับบาดเจ็บสาหัสทำให้มือข้างที่นายสมบัติใช้ทำการเจียรนัยเพชร พลอย ไม่สามารถใช้การได้ตลอดไป กรณีดังกล่าวแม้จะทำให้นายสมบัติไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ (ช่างเจียรนัย) แต่เมื่อร่างกายส่วนอื่นๆ ยังคงใช้งานได้ตามปกติ นายสมบัติสามารถไปทำอาชีพอื่นได้ จึงถือไม่ได้ว่านายสมบัติทุพพล ภาพถาวร
แต่หากอุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้นายสมบัติได้รับบาดเจ็บ จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต้องมีคนคอยดูแลช่วยเหลือให้นายสมบัติลุก นั่ง หรือต้องป้อนข้าว ป้อนน้ำ กรณีดังกล่าวถือได้ว่านายสมบัติไม่สามารถประกอบอาชีพเดิม และอาชีพอื่นๆได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป ถือได้ว่านายสมบัติทุพพลภาพถาวรแล้ว
ซึ่งบางกรณีอาจต้องพิสูจน์โดยการที่ผู้ได้รับบาดเจ็บไปขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ออกบัตรคนพิการให้
การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ( P.A )
การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองบุคคลในการสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะหรือการทุพพลภาพอื่นใด ซึ่งเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ หากความบาดเจ็บที่ได้รับเป็นผลทำให้
- เสียชีวิต
- สูญเสียมือ เท้า สายตา
- ทุพพลภาพ
- ทุพพลภาพชั่วคราว
การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลมิใช่การประกันภัยความรับผิดจึงไม่คำนึงว่าความเสียหายที่ผู้ได้รับความคุ้มครองได้รับจะเป็นความรับผิดของใด และแม้ว่าผู้ได้รับความคุ้มครองจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายเต็มจำนวนแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้บริษัทผู้รับประกันภัยตามเอกสารแนบท้ายนี้หลุดพ้นความผิดแต่อย่างใด บริษัทยังคงจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองที่ได้ระบุไว้
การประกันตัวผู้ขับขี่
เมื่อผู้เอาประกันหรือผู้ขับขี่โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย นำรถยนต์คันเอาประกันภัยไปใช้ และเกิดอุบัติเหตุขึ้นทำให้ผู้เอาประกันภัย หรือผู้ขับขี่นั้นถูกควบคุมตัวไว้ในคดีอาญา หากมีการซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมส่วนนี้ไว้แล้ว บริษัทประกันจะต้องดำเนินการประกันตัวผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่นั้น โดยยื่นหลักประกัน เช่น เงินสด หรือหลักทรัพย์สินอื่น ตามจำนวนที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาลกำหนด ( แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายนี้ ) ทั้งนี้เพื่อที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลจะได้พิจารณาปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวเป็นการชั่วคราว
ตัวอย่างเช่น ผู้ทำประกันได้ขับรถคันที่เอาประกันภัยไว้โดยประมาทไปเกิดอุบัติเหตุชนรถจักรยานยนต์ผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ซึ่งกรณีนี้จะมีโทษทางอาญา เมื่อผู้ทำประกันถูกแจ้งข้อหาโดยพนักงานสอบสวน ( ตำรวจ ) อาจถูกควบคุมตัวหมดอิสรภาพได้ ผู้ทำประกันโดยปกติหากไม่มีการทำประกันภัยไว้ก็ต้องใช้เงินสดหรือหลักทรัพย์ของตนเองประกันตัวออกไปเพื่อสู้คดี แต่หากได้มีการซื้อความคุ้มครองเอาไว้ บริษัทประกันก็จะเป็นผู้ที่นำหลักทรัพย์เพื่อไปประกันตัวผู้ที่ทำประกันไว้แทน
ค่าสินไหมทดแทน
ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้ ได้แก่
- ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ค่าอวัยยะเทียม ค่าพาหนะนำส่งหรือกลับจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ฯลฯ
- ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
- ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นมิใช่ตัวเงิน และ
- ค่าเสียหายอื่นๆ ที่ผู้ประสบภัยสามารถเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438-448 โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อเยียวยาให้ผู้ถูกกระทำละเมิดกลับคืนสู่สภาพเดิมเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ศาลจะพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เยอะมาก โดยผมจะมานำเสนอในคราวต่อๆไปครับ
ตอนนี้ขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ คราวหน้าจะนำเสนอเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือข้อสงสัยที่เกี่ยวกับความคุ้มครองและข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มานำเสนอต่อไป
ผู้เขียน ทค.อภิชาติ เฮงรัตนกิจ
